จากเด็กบ้านจน ต้องคุ้ยขยะหาของกิน สู่ผู้สร้าง "ปลากัดทองสัญชาติไทย" ตัวแรกของโลก

คอมเมนต์:

เพราะมีใจรัก ความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค แต่กว่าจะประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย….

        ชายวัยเกษียณแต่ท่าทางกระชับกระเฉงในร้าน Goldenbetta ที่ตั้งอยู่ในย่านปากน้ำมานานกว่า 30 ปี ท่ามกลางปลากัดหลากสีหลายสายพันธุ์ที่พร้อมใจกันว่ายวนหางสะบัดพลิ้วไหว ในวงการปลากัดรู้จักชายคนนี้เป็นอย่างดีด้วยรางวัลการันตีและในฐานะคอลัมนิสต์เขียนเรื่องปลากัด ในชื่อ “ลุงอ๋า ปากน้ำ”

        จากเด็กยากจนต้องคุ้ยขยะหาของกิน พลิก ศ พ หาเหรียญสลึง สู่นักพัฒนาปลากัดระดับโลกรายได้หลักล้าน “ลุงอ๋าปากน้ำ” กว่าครึ่งศตวรรษ เขาคือผู้แต้มสีสันผสมพันธุ์ปลากัดจนชื่อดังกระฉ่อน ผู้เพาะพันธุ์ “ปลากัดสีทอง หางใบโพธิ์” เป็นตัวแรกของโลก ทว่า กว่าจะประสบความสำเร็จได้ทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

 

Sponsored Ad

 

        “ชอบปลากัดมาตั้งแต่ 7 ขวบ เด็กสมัยก่อนไม่มีการ์ตูน ไม่มีมือถือ ต้องหาเครื่องเล่นเอาเอง ถ้าผู้หญิงก็เล่นหมากเก็บ ผู้ชายก็ไปหาช้อนปลา แมลงมาเลี้ยง”

        ด้วยความหลงใหลในสีสันและความสวยงามของปลากัดลุงอ๋าจึงเริ่มสนใจเลี้ยงปลากัดเป็นงานอดิเรกมาตั้งแต่ 7 ขวบ ยามว่างมักหากระป๋องสีไปวางไว้ข้างคลองหลังอู่เพื่อดักจับปลากัดป่ามาเลี้ยงดูเล่น เห็นว่าปลามีความสวยงามจึงมีความชื่นชอบตั้งแต่นั้นมา ทั้งตนเองยังมีความเข้าใจในเรื่องการผสมสีรถยนต์โดยเฉพาะสีเมทัลลิก คิดว่าหากนำวิธีการผสมสีรถมาปรับใช้กับการผสมสีของพันธุ์ปลากัดน่าจะทำได้จริง และมีความมุ่งมั่นว่าจะต้องทำให้สำเร็จ

 

Sponsored Ad

 

        “เดิมทีผมเป็นคนปากน้ำ แต่ย้ายไป จ.นครราชสีมา ตั้งแต่ 6 ขวบ ฐานะทางบ้านไม่ดี พ่อแม่มีลูก 10 คน ผมเรียนเต็มที่ก็ ป.4 จากนั้นก็เริ่มไปฝึกหัดงานในอู่รถยนต์ เป็นช่างเคาะพ่นสี ตั้งแต่ 7 ขวบ

        ปลากัดตัวแรกของผม คือปลากัดป่า เราก็ช้อนตามทุ่งมาเลี้ยง ไม่ได้ซื้อหรอก แม้มีปลากัดหม้อขายตามตลาดนะ ตัวบาทสองบาท แต่เราไม่มีเงินเราก็ไปช้อนปลากัดป่ามาเลี้ยง ปลากัดป่าสวยกว่าปลาหม้ออีก เกล็ดมันเงางามเป็นมรกต

 

Sponsored Ad

 

        ตอนนั้นเป็นช่างพ่นสีรถยนต์ เงินหาได้เท่าไหร่ก็ส่งให้พ่อแม่หมด เหลือตังค์กินข้าวนั่งรถไปกลับที่ทำงาน ตอนนั้นเป็นช่าง อายุ 12-13 ปี ได้วันละ 10 บาท เดือนนึงก็ 300 บาท พออายุ 16-17 ปี เงินเดือนเริ่มขยับเป็นเดือนละ 600 บาท เราเอาไปใช้วันละ 5 บาทขึ้นรถเมล์มาทำงาน 50 สตางค์ ใช้ประหยัดนะ

        เราจน พี่น้องเยอะ สมัยก่อนลำบากมาก ตอนที่อยู่โคราช ที่พ่อแม่ย้ายไปจากปากน้ำ เพราะสมัยก่อนมันมีแคมป์ฝรั่ง ไปอยู่ที่นครราชสีมา ก็มีความเจริญ ก็ไปเปิดร้านขายของชำ กาแฟ พอพักหลังฝรั่งออกไปแล้วก็ต้องย้ายกลับมา เพราะค้าขายเริ่มตก คนสมัยก่อนเขาไม่ได้เลี้ยงลูกเต้าแบบสมัยนี้นะ กินข้าวไม่ครบสามมื้อหรอก วันนึงกินมื้อเดียว เข้าสวนเก็บผลไม้กินกัน กินอยู่ไปวันๆ แล้วบางทีพวกฝรั่งเอาขยะมาทิ้ง เราไปคุ้ยขยะ เจอนม ขนมหมดอายุเราก็เอามากิน ถึงขนาดนั้นนะ ตอนที่จบ ป.4 ยังไม่มีงาน เราก็ไปคุ้ยอย่างนี้แหล่ะ มันยากจนจริง

 

Sponsored Ad

 

        อย่างเวลาไปวัด ถึงขนาดไปคุ้ยที่เขาเ ผ า ศ พ คุ้ยเหรียญที่เขายัดปากใส่ไว้ในโลง แล้วเราก็ไปคุ้ยเศษเหรียญมา ก็กินก๋วยเตี๋ยวได้แล้ว ผ่านความทุกข์มาหลายอย่าง ความยากจนมาหลายอย่าง ไม่ใช่ว่าเกิดมาแล้วสบายเลยนะ” ความอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวงที่ดาหน้าเข้ามา ผนวกรวมกับความฝัน ความหวัง ความตั้งใจจริงที่บ่มเพาะอยู่ในใจมาตั้งแต่วัยเด็ก เมื่อสู่วัยกลางคนจึงต้องลุยสร้างฝันให้สำเร็จ

เส้นทาง…ปลากัดสีทอง ตัวแรกของโลก

        “เมื่อผมอายุมากขึ้น อายุประมาณ 43 ปี จึงได้ออกจากงานช่างเพื่อมาเพาะพันธุ์ปลากัดที่ผมชอบและรักมันเป็นชีวิตจิตใจ ผมตั้งใจผสมสีปลากัดแทนการผสมสีรถยนต์ซึ่งไม่แตกต่างกัน และได้พัฒนาปลากัดขึ้นมาใหม่หลายสีหลากพันธุ์ ตัวอย่างเช่น สลาเวนเดอร์หูใหญ่ ซึ่งผมเพาะพันธุ์ได้ในปี 2551 แต่ไม่เป็นที่นิยม

 

Sponsored Ad

 

        เนื่องจากเวลาส่งเข้าประกวดจะไม่ได้รับความสนใจจากคณะกรรมการเนื่องจากหูใหญ่เกินมาตรฐาน แต่ปลาที่ทำให้ผมมีชื่อเสียง คือ ปลากัดสีทองที่ผมตั้งใจทำและคิดมาอยู่หลายปีจนประสบความสำเร็จ และสามารถยืนอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้

        ปลากัดสีทองเกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างคอปเปอร์หรือสีทองแดงเข้ากับแพลทินัม ครั้งแรกลูกปลากัดที่เกิดมานั้น จะออกมาเป็นสีทองอ่อน โดยเริ่มเพาะครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547 จนกระทั่งสำเร็จ ได้ปลากัดสีทองที่สมบูรณ์ในปี 2549

 

Sponsored Ad

 

        ขอย้อนกลับไปปี พ.ศ. 2547 เป็นได้แค่มุกทองหรือแพลตินัมโกลด์หรือทองอ่อน ผมได้ใช้เวลาไล่สายพันธุ์มาประมาณ 2-3 ปี จึงได้มาเป็นปลากัดสีทองตัวแรกของโลกเลยก็ว่าได้ เพราะปลากัดส่วนใหญ่เกิดที่ประเทศไทยจึงกล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำ ซึ่งผมได้ใช้ความพยายามและความตั้งใจอย่างมากที่ต้องการจะเพาะพันธุ์ปลากัดสีทองให้สำเร็จ

        โดยผมมีแนวความคิดว่า ในเมื่อปลากัดที่มีสีทองแดง สีมุขทอง และแพลทินัม ยังสามารถเพาะขึ้นมาได้ ฉะนั้นก็ต้องทำให้เป็นสีทองได้เช่นกัน ซึ่งในความคิดผมนั้นผมคิดว่าการเพาะพันธุ์ปลากัดให้มีสีสันต่างๆตามที่ต้องการนั้น สามารถทำได้ แต่ต้องมีใจรัก ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งหลายทั้งปวง

Sponsored Ad

        สำหรับผมการทำปลากัดสีทองครั้งแรกเหนื่อยมาก เพราะการที่ต้องการจะทำให้ปลากัดออกมาเป็นสีทอง มีความเงางาม เหมือนดั่งทองนั้น ต้องใช้ความพยายามอย่างที่สุด เนื่องจากในครั้งแรกลูกปลากัดที่ได้มาไม่เป็นตามที่คิดไว้ บ้างก็มีเขม่าที่ลำตัวบ้าง ก็มีเขม่าที่ครีบ ต้องพยายามหาตัวที่ไม่มีเขม่าหรือมีเขม่าน้อยที่สุดและมีสีทองเข้มมาผสมหลายชั้นหลาย F จนได้สายเลือดที่นิ่ง และเพาะสำเร็จในปี 2549”

        ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่สนใจ ชาวต่างชาติก็แห่มาที่ร้านลุงอ๋าเพื่อซื้อปลากัด ทำให้ปัจจุบันนี้ รถเมล์ - นิภา สุพินพง ลูกสาวลุงอ๋า อดีตนักบัญชีที่ลุงอ๋าบ่มเพาะประสบการณ์เลี้ยงปลากัดมาตั้งแต่เด็ก ได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการอย่างเต็มสูบ ต่อยอดพัฒนาธุรกิจ ขยายตลาดไปยังลูกค้าไทยและลูกค้าต่างประเทศมากยิ่งขึ้น

        ลุงอ๋า เล่าว่า ปลาของทางร้านเป็นปลาคัดเกรด พัฒนาสายพันธุ์ ไม่ได้ทำแบบปริมาณแต่ทำแบบเน้นคุณภาพ ยอดขายอยู่ที่หลักแสนต่อเดือน โดยราคาเริ่มต้นที่ตัวละ 500 บาท และแพงสุดคือ 5,000 บาท ทำให้มีรายได้หลักแสนต่อเดือน และหลักล้านต่อปี

        ในตอนนี้ที่นิยมมากที่สุดคือ “ปลากัดสีทอง หางใบโพธิ์” ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ ตอบโจทย์ลูกค้าหลายกลุ่ม และมีลักษณะพิเศษตรงที่หางเรียวแหลมเป็นใบโพธิ์ แสดงถึงความเป็นไทยอย่างมาก อีกทั้งลูกค้าบางท่านตั้งใจมาซื้อโพธิ์ทองเข้าบ้าน หรือกิจการ โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหารเพื่อความเป็นสิริมงคล

        “การค้าขายต้องมีความซื่อสัตย์นะ เพราะซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน ถ้าเราซื่อสัตย์ ลูกค้าจะเชื่อถือ...แต่สำหรับเรา เราคิดว่า ถ้าลูกค้าเขาเลี้ยงรอดขึ้นมาล่ะ แล้วสีมันเปลี่ยน เขาไม่มาด่าเราทีหลังเหรอ เราเลยต้องบอกเขาไปตรงๆว่า ปลามันจะเปลี่ยนสีเพราะมันอยู่ในตระกูลแฟนซี สีมันจะเคลื่อนตัวเรื่อยๆ อาจจะสวยขึ้น หรืออาจจะขี้เหร่ลงก็ได้

        เพราะความซื่อสัตย์ ทำให้เรายืนอยู่ได้ทุกวันนี้ เพราะเรื่องเงินทองเราอยู่ตัวแล้ว เหลือใช้แล้ว ลูกเต้าเรียนจบหมดแล้ว เราสบาย เราไม่เดือดร้อนแล้ว เราแค่ต้องการเผยแพร่ปลากัดให้คนรับรู้เท่านั้นเอง

รางวัลพระราชทาน

        ทุกวันนี้รายได้ไม่ตกนะ ไปเรื่อยๆ เราอาศัยก้าวทีละก้าวไปเรื่อยๆ พอเลี้ยงตัว ไม่เดือดร้อน ก็มีช่องทางการขายทางออนไลน์ เฟซบุ๊ก ไอจี ยูทูบ ไลน์ และแอปพลิเคชัน Goldenbetta ทุกวันนี้ ไม่เกี่ยวกับเรื่องเงินแล้ว อยากจะทำเพื่อเผยแพร่ให้ทั่วโลกรู้จักปลากัดของประเทศไทยว่า เป็นเผ่าพันธุ์ที่มีคุณภาพและยืนยาวมานานก่อนทุกประเทศ”

        “สำหรับมือใหม่อยากเลี้ยงปลากัดขอแนะนำให้เลือกตัวที่ชอบ เราชอบสีสันแบบไหน ตัวไหนที่เราชอบ ก็ซื้อเลย มันอยู่ที่ใจเรา ก็เหมือนคน บางคนชอบคนอ้วน คนผอม ถ้าเราไปแนะนำ บางทีเราชอบแต่เขาไม่ชอบ ก็ต้องแล้วแต่ตัวเขา

        ใครจะต้องการเลี้ยงปลากัด ควรศึกษาก่อน เดี๋ยวนี้ในยูทูบมีข้อมูลเยอะ ถ้าใครมาที่ร้านผมแล้วไม่ศึกษามาก่อน มาขอซื้อตัวละพันสองพัน เรายังไม่ขายให้เลย เราบอกให้ไปศึกษาก่อน เราไม่ต้องการเงิน เราต้องการเผยแพร่มากกว่า เพราะเราพอแล้วตรงนี้ บางคนกำเงินมา ผมมีเงินผมซื้อได้ ปลากัดทองตัวนึงสองสามพัน แล้วคุณรู้เรื่องปลากัดไหม ไม่รู้เรื่องอะไรเลย โอ้โห แล้วให้ผมไปนั่งแนะนำคุณ ผมกว่าจะศึกษามาเป็นสิบๆปี ผมแนะนำคุณแค่ชั่วโมงสองชั่วโมง คุณไม่รู้เรื่องหรอก คุณควรจะไปศึกษาก่อน ร้านผมไม่ย้ายไปไหน คุณไปศึกษาก่อน บางคนเลยหาว่าหยิ่ง เขาหาว่าไล่

        สมัยนี้ปลากัดเลี้ยงง่าย ถ้าจะหาความสุขลองเลี้ยงเลย มีแค่ห้องเล็กๆก็เลี้ยงได้แล้ว บางทีคนแก่วัยเกษียณเขายังมาศึกษาเลย เช่น คนที่เขาเคยเป็นใหญ่เป็นโต เขาก็มาศึกษาดู บางที บางคนอายุ 70-80 ปี เขาก็มาดูไปเพาะเลี้ยง เกิดความสุข มันสนุก พอปลาออกลูกมาดีใจ บางคนก็สามารถสร้างรายได้ด้วย

        ผมอยากจะเผยแพร่ให้คนไทยได้รู้จักว่า วิธีหาความสุข ไม่ต้องไปหาที่กว้างๆ สามารถเลี้ยงได้ในห้องทำงานเล็กๆ บางทีทำงานเครียด ได้ดูปลากัดเพลินๆ ก็ทำให้เขาคลายเครียด มีความสุข”

เคล็ดลับเลี้ยงปลากัดให้สวยเป๊ะ

        นับวันกระแสการเลี้ยงปลากัดได้รับความนิยมมากขึ้น สำหรับปลากัดเป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ไม่ต้องใช้สถานที่ขว้างขวาง สามารถเลี้ยงในโหลหรือเหลี่ยมเล็กได้ เซียนปลากัดแนะนำวิธีการเลี้ยงปลากัดให้สวยงามและอยู่นาน ด้วยวิธีง่ายๆ

        ปลากัดจะมีปัญหาในเรื่องครีบหางห่อเหี่ยว ปลากัดไม่ชอบอากาศร้อนหรือเย็นเกินไป เพราะฉะนั้นควรนำปลากัดไว้ในที่อุณหภูมิที่เหมาะสม เช่นเอาไปไว้ในที่ร่มเย็นหรือควรไว้ใกล้กับอ่างน้ำหรือกระถางต้นไม้สถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้ดี

        สำหรับน้ำที่เลี้ยงปลากัด ซึ่งควรเปลี่ยนอย่างน้อยอาทิตย์ละครั้งหรือสองครั้ง และควรใส่เกลือลงไปด้วยเล็กน้อยทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนน้ำใหม่ เพราะเกลือจะทำให้ปลากระชุ่มกระชวยไม่ห่อเหี่ยว

        ในกรณีที่ไม่อยากถ่ายน้ำบ่อย ก็ให้ใส่ใบหูกวางที่แห้งและกรอบลงไปในน้ำเป็นสีเหลืองเข้มหน่อยจะได้อยู่ได้นานเป็นอาทิตย์เลย ซึ่งใบหูกวางจะมีประโยชน์ ช่วยให้ปลากัดสุขภาพแข็งแรง เกล็ดปลาแน่นรัดตัว ทำให้เกล็ดเนียนและเงางาม ส่งผลให้สีของปลาดูสดและเข้มขึ้น

        ส่วนข้อควรระวังสำหรับเรื่องน้ำที่ใช้เลี้ยงปลากัดนั้นสามารถใช้น้ำประปาได้ และควรกักทิ้งไว้สัก 2-3 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหยออกไป แต่น้ำที่ไม่ควรใช้เลี้ยงปลาคือน้ำกรองและน้ำแร่

        ข้อแนะนำเพิ่มเติมเพื่อให้ปลาได้บริหารร่างกายและกระโดงครีบหาง ควรเปิดให้ปลากัดได้พองตัวอย่างน้อยวันละ 2-3 หน จะทำให้หางกระโดงและหางยืดและกางมากขึ้น ไม่ห่อเหี่ยว

ที่มา :  เพจเฟซบุ๊ก goldenbetta Thailand

บทความที่คุณอาจสนใจ