สุภาพสตรีหมายเลข 1 ฟิลิปปินส์ ที่รวยแสนล้าน โกงทุกอย่างแบบไม่กลัวใคร

คอมเมนต์:

“เธอมีเงินเป็นแสนล้าน เงินจำนวนมหาศาลที่ขโมยจากประชาชน”

    อิเมลดา มาร์กอส (Imelda Marcos) ในฐานะอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 จากยุคสงครามเย็นที่โด่งดังเรื่องรองเท้าแบรนด์เนมพันคู่กับการโกงเงินประชาชนนับพันล้านบาทที่ร่วมทำกับ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส (Ferdinand Marcos) ผู้เป็นสามีและประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ สตรีคนนี้เคยทำให้ชาวปินส์จดจำด้วยการก้าวสู่เวทีประกวดนางงามคว้ามงอันดับ 3 มาครองเมื่อปี 1953

    ปีถัดมาจากการประกวดนางงาม อิเมลดาสร้างตำนานให้ตัวเองด้วยการประท้วงผลการตัดสินของกองประกวดต่อนายกเทศมนตรีมะนิลา ไม่ยอมรับอันดับที่ได้ จนสื่อพากันทำข่าวจนขึ้นหน้าหนึ่งหลายวัน จนเธอได้รับฉายาจากกองประกวดว่า “The Muse of Manila” เพื่อให้เธอหยุดโวยวายเสียที เนื่องจากเธอสร้างความวุ่นวายให้กับกองประกวดเป็นอย่างมาก

 

Sponsored Ad

 

    ปีถัดมามีโอกาสพบกับนักการเมืองดาวรุ่งอย่าง เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส พวกเขาตกหลุมรักกันในเวลาอันสั้น หลังพบกันเพียงแค่ 11 วัน ก็ประกาศแต่งงานสายฟ้าแลบ จนสื่อพากันแซวการพบรักที่เร็วมากของทั้งคู่ว่า “Eleven-Day Whirlwind”

 

Sponsored Ad

 

    หลังสร้างชื่อด้วยการวีนใส่กองประกวดจนเป็นข่าว ต่อด้วยข่าวความรักสิบเอ็ดวัน ทำให้เธอเป็นที่สนใจของผู้คน ช่วงสองสามปีนั้นคงไม่มีผู้หญิงคนไหนอยู่ในกระแสสังคมฟิลิปปินส์และถูกพูดถึงมากเท่าอิเมลดาอีกแล้ว

    สามีของอิเมลดาตัดสินใจลงสมัครชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี เขาสามารถปราศรัยชัดเจน หนักแน่น กินใจ ประกอบกับภรรยาคนสวยช่วยสามีหาเสียง ใช้ตำแหน่งนางงามขี้ใจน้อยให้เป็นประโยชน์ กลายเป็นคู่รักตัวอย่างที่ใคร ๆ ให้ความสนใจ

    อิเมลดาถูกพูดถึงมากขนาดที่ผู้ชายจำนวนมากยอมออกมาฟังเฟอร์ดินานด์ปราศรัยทั้งที่ไม่สนใจการเมือง เพียงเพราะอยากเห็นภรรยาของนักการเมืองหนุ่ม ด้วยองค์ประกอบหลายอย่างส่งให้ผู้คนเทคะแนนเสียงเลือกตั้งให้เขาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 10 ส่วนอิเมลดากลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 แห่งฟิลิปปินส์

 

Sponsored Ad

 

    ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศตั้งแต่ปี 1965-1986 ด้วยการแก้รัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองเป็นผู้นำหลายสมัยจากการโกงเลือกตั้ง กำจัดนักการเมืองคู่แข่ง จำกัดเสรีภาพของสื่อและประชาชน ปกครองประเทศด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จนานถึง 21 ปี เมื่อไหร่ที่เขาไปงานสังคม งานหาเสียง งานเล็กใหญ่ มักจะเห็นเธอเดินทางไปพร้อมกับสามีเสมอ

 

Sponsored Ad

 

    โดยในช่วงเริ่มแรกอิเมลดามีแฟนคลับคอยให้ความสนใจ ผู้หญิงวัยทำงานชนชั้นกลางของฟิลิปปินส์มองอิเมลดาเป็นแฟชั่นไอคอน มักปรากฏตัวต่อหน้าสื่อด้วยการแต่งกายสวยงาม มีเสน่ห์ ควงคู่มากับสามีที่เป็นผู้นำประเทศ ช่างเป็นภาพที่ดูดีจนใคร ๆ ต่างมองว่าพวกเขาทั้งคู่ต่างส่งเสริมเกื้อกูลกันและกัน แต่ทว่าทุกอย่างกลับค่อย ๆ จางหายไป เมื่อประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์เริ่มออกลายไม่ทำตามนโยบายที่เคยสัญญาไว้กับประชาชน

    สื่อในประเทศและคนส่วนใหญ่พากันลือว่านางอิเมลดามีงานอดิเรกสะสมของแบรนด์เนม เป็นนักจัดงานเลี้ยงตัวแม่ ชื่นชอบการเข้าสังคมเป็นชีวิตจิตใจ ผูกมิตรกับเหล่านักการเมืองด้วยการเชิญมารับประทานอาหารที่บ้าน ส่งของขวัญไปให้ อู้ฟู่จนเคยถูกตั้งฉายาว่าเป็น มารีอองตัวเนตแห่งฟิลิปปินส์ ที่มีคอลเล็กชันรองเท้าจำนวนมหาศาล

 

Sponsored Ad

 

    อิเมลดามักชอบแวะเวียนไปงานการกุศลบ่อยครั้งตามงานออกสื่อ พยายามแสดงบทบาทแม่ เรียกตัวเองว่าเป็นแม่ของชาวฟิลิปปินส์ นานวันเข้าก็บอกตัวเองเป็นแม่ของทุกคนบนโลกใบนี้ ชอบเชิญตัวเองไปงานสำคัญ ๆ ทั้งที่เจ้าภาพไม่ได้เชิญสุภาพสตรีหมายเลข 1 คนนี้ด้วยซ้ำ นี่คือนิสัยเด่นของเธอที่ทั่วโลกรู้จัก

 

Sponsored Ad

 

    การมีสามีเป็นผู้นำเผด็จการควบคุมประเทศเบ็ดเสร็จทำให้เธอเสียคน ไม่มีใครรู้ว่าอิเมลดาคิดอะไรอยู่ หลายครั้งอิเมลดามักแสดงอำนาจแบบเด่นชัด ปี 1966 พยายามติดต่อให้วงดนตรีชื่อดังของเกาะอังกฤษ The Beatles มาแสดงแบบส่วนตัวที่คฤหาสน์แต่ถูกปฏิเสธ ถัดมาสองปีอยู่ ๆ ไปปรากฏตัวในพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริชาร์ด นิกสัน (Richard Nixon) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา โดยที่เขาไม่ได้เชิญ อีกสิบปีต่อมาไปงานสาบานตนของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ ทั้งที่ไม่ถูกเชิญเหมือนเคย

Sponsored Ad

    วีรกรรมของเธอถูกสื่ออเมริกาเขียนเหน็บแนมว่า อิเมลดาเป็นผู้หญิงที่ไม่รู้จักมารยาททางการทูต ทำตัวไม่เหมาะสมกับการเป็นสุภาพสตรีหมายเลข 1 เอาเสียเลย
    ชีวิตของราชินีแบรนด์เนมหมายเลข 1 แห่งฟิลิปปินส์เหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดเวลา จนกระทั่งประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์พบกับนักแสดงสาวสวยจากฮอลลีวูด โดวี่ บีมส์ (Dovie Beams) ที่เดินทางมาโปรโมตภาพยนตร์ในฟิลิปปินส์เมื่อปี 1968 จากคู่รักที่สมบูรณ์แบบแปรเปลี่ยนเป็นเพียงคู่หูทางธุรกิจ ประธานาธิบดีให้เธอทำหน้าที่เรื่องการทูตเพื่อแวะเวียนสร้างสัมพันธ์กับหลายประเทศ

    และอีกข่าวฉาวของเธอก็คือ อิเมลดาเคยเข้าพบเหมา เจ๋อตง จนมีภาพเหมาจูบมือของเธอ จนคนลือกันว่าผู้หญิงคนนี้ทำให้สงครามเย็นจบลง (ซึ่งไม่จริงแต่อย่างใด) เคยเข้าพบกษัตริย์และราชินีไทย แวะเวียนไปพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย อินทิรา คานธี สานสัมพันธ์แถบลาตินอเมริกากับฟิเดล คาสโตร เป็นเพื่อนกับซัดดัม ฮุสเซน และนายพลโจเซฟ ตีโต้ ผู้นำคอมมิวนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย หรือแม้กระทั่งขอเข้าพบพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งอังกฤษ

    การสร้างสัมพันธ์กับคนมีชื่อเสียงระดับโลกของอิเมลดาไม่สนเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ไม่สนว่าผู้นำบางประเทศไม่ถูกกัน ไปเยี่ยมเยียนทุกฝั่งไม่เหลียวแลเรื่องราวความขัดแย้งใด ๆ เรียกได้ว่าใครคือผู้นำประเทศเธอลุยเดินหน้าเยี่ยมทุกคน

    ประธานาธิบดีคนเดิมแต่อยู่ในอำนาจนับสิบปี ส่งให้เรื่องฉาวทางการเมืองของครอบครัวมาร์กอสเริ่มหนาหูขึ้น สื่อเขียนข่าวโจมตีการทำงานของเฟอร์ดินานด์ เกิดความวุ่นวายเมื่อประชาชนเริ่มออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจ ประธานาธิบดีตัดสินใจประกาศกฎอัยการศึกในปี 1972 จำกัดเสรีภาพสื่อเพื่อจับตาการแสดงออกทางการเมืองทุกย่างก้าว
    เมื่อไม่สามารถโจมตีประธานาธิบดีและกลุ่มการเมืองของเขาได้ สื่อหลายคนหันมาขุดคุ้ยประวัติของสตรีหมายเลข 1 จนพบว่าเธอเติบโตมาในเมืองซานมิเกล พ่อเป็นทนายความที่มีภรรยา 2 คน และลูกอีก 11 คน ตอนแรกครอบครัวร่ำรวยแต่ใช้เงินสุรุ่ยสุร่าย อาจเพราะพวกเขาคิดว่าเงินเหล่านี้ไม่มีวันหมดไป จนกระทั่งเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ตกต่ำหนักเพราะพิษของสงครามเย็น ครอบครัวของอิเมลดาก็เริ่มเข้าสู่สภาวะการเงินถังแตก
    มีข่าวซุบซิบว่าอิเมลดาถูกรังแกจากพี่น้องของภรรยาคนแรก ข่าวเสียเกี่ยวกับครอบครัวลุกลามถึงการวิจารณ์ว่าเพราะเป็นแบบนี้ถึงโตมาแล้วนิสัยเสีย โดนพ่อตามใจแต่พี่น้องรังแกจนทำให้เธอไม่ใช่ผู้หญิงที่มีจิตใจดีเท่าไหร่ พอเห็นว่ามีเงินก้อนโต สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งพร้อมกระโจนเข้าใส่

    การเขียนข่าวซุบซิบทำให้คนฟิลิปปินส์วิจารณ์อิเมลดาเป็นวงกว้าง นักข่าวบางคนถูกข่มขู่ ฝั่งครอบครัวมาร์กอสใช้เส้นสายกดดันบริษัทให้จัดการกับนักข่าว นักเขียน นักขับเคลื่อนสังคม ใครก็ตามที่เขียนบทความโจมตีต้องออกจากงานและลี้ภัยออกนอกประเทศ เป็นตัวอย่างให้ผู้คนเห็นถึงผลที่ได้รับจากการยุ่งเรื่องของพวกเขาจนถูกเรียกว่าคู่ผัวเมียเผด็จการ
    นอกจากสินค้าฟุ่มเฟือยที่เป็นประเด็น อิเมลดายังซื้ออสังหาริมทรัพย์จำนวนมากย่านแมดฮัตตัน เขตที่ขึ้นชื่อว่าราคาแพงอันดับต้น ๆ ของนิวยอร์ก ซื้อเครื่องเพชรชุดใหญ่ เสื้อผ้า กระเป๋าแบรนด์และรองเท้าอีกมหาศาล เกิดข่าวลือว่าสตรีหมายเลข 1 มีรองเท้าส้นสูงราคาแพงหูฉี่ราวสามพันคู่ แต่เธอออกมาเถียงว่านั่นไม่ถูกต้อง อันที่จริงจำนวนรองเท้าที่มีคือ 1,060 คู่นิดๆเอง


    ประเทศฟิลิปปินส์ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์สร้างความล่มจมให้กับระบบเศรษฐกิจ ธนาคารโลกเคยเปิดเผยว่าฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีหนี้สินมากที่สุดในทวีปเอเชีย จากเดิมมีหนี้อยู่ราว 2,670 ล้านดอลลาร์ (ราว 8.3 หมื่นล้านบาท) ภายใน 14 ปี หนี้ไม่ลดลงแต่เพิ่มขึ้นทวีคูณเป็น 29,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 9 แสนล้านบาท) ประชาชนเจอกับปัญหายากจน คดีอาชญากรรมพุ่งสูงขึ้น ช่องว่างแห่งความเหลื่อมล้ำเริ่มกว้างขึ้นเรื่อย ๆ สวนทางกับคู่สามีภรรยามาร์กอสติดอันดับบุคคลร่ำรวยที่สุดในโลก
    ภายหลังก็เกิดการประท้วงครั้งใหญ่ในฟิลิปปินส์เมื่อ เบนิโต “นินอย” อากีโน (Benigno “Ninoy” Aquino) นักการเมืองคู่แข่งคนสำคัญของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์โดนลอบสังหารที่สนามบิน ทุกอย่างเกิดจากความร่ำรวยแบบผิดปกติของคู่สามีภรรยาเด่นชัดแบบไม่ปกปิดเลย

   ต่อมา โคราซอน อากีโน (Corazon Aquino) ภรรยาของนักการเมืองเชื่อหมดใจว่าเป็นฝีมือของประธานาธิบดี เธอตัดสินใจออกมาโต้ตอบด้วยการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นอีกหนึ่งปีข้างหน้า และการเลือกตั้งฟิลิปปินส์ปี 1985 มาถึงผลคะแนนเป็นดังหลายคนคาดไว้ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์สามารถเอาชนะโคราซอนไปได้เพราะโกงเลือกตั้ง ทั้งการซื้อเสียงนักการเมือง เปลี่ยนรัฐธรรมนูญ ส่งทีมงานไปขโมยหีบเลือกตั้ง


    ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์คิดว่าเมื่อชนะเลือกตั้งคนจะเลิกประท้วงไปเอง แต่ผิดถนัด ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงเพราะรู้ว่าผู้นำโกงเลือกตั้ง ไม่มีใครอยากทนกับผู้นำขี้โกงอีกแล้ว นางโคราซอนไปร่วมชุมนุมกล่าวกับทุกคนว่าเงินที่คู่ผัวเมียนี้โกงไปซื้อรองเท้าแบรนด์เนม สามารถปรับปรุงห้องเรียนให้นักเรียนได้หกหมื่นห้อง ซื้อตำราเรียนให้เด็ก ๆ มากกว่าห้าร้อยล้านเล่ม สามารถเปลี่ยนถนนลูกรังให้เป็นคอนกรีตกว่าพันกิโลเมตร
    การประท้วงปี 1986 รุนแรงกว่าทุกครั้ง กฎอัยการศึกไม่ช่วยอะไร ประชาชนโกรธแค้นนักการเมืองโกงกระฉ่อนจะทนไม่ไหว ฮวน เอนริเล รัฐมนตรีกลาโหมแสดงจุดยืนว่าเขาอยู่ฝั่งประชาชน กองทัพอากาศยังยืนยันหนักแน่นว่าไม่ต้องการสนับสนุนรัฐบาลของประธานาธิบดีผู้ฉ้อฉล

    เมื่อรู้ว่าลมเปลี่ยนทิศ ประธานาธิบดีและสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งตัดสินใจหอบเงินหลายล้านดอลลาร์หนีไปยังเมืองฮอนโนลูลู ฮาวาย รัฐบาลชุดใหม่ของฟิลิปปินส์ไปยังคฤหาสน์ตระกูลมาร์กอสจนได้พบรองเท้าแบรนด์เนมราว 1,100 คู่ คอลเล็กชันเครื่องเพชร ผลงานศิลปะราคาสูงที่คนธรรมดายากจะจับต้อง เสื้อผ้า กระเป๋าแบรนด์เนม สินค้าฟุ่มเฟือยทั้งหมดเป็นของผู้หญิงคนเดียวคือ อิเมลดา มาร์กอส
    ปัจจุบันของใช้แบรนด์เนมจากภาษีประชาชนบางส่วนของนางอิเมลดาถูกนำมาจัดแสดงไว้ในทำเนียบประธานาธิบดี บางชิ้นถูกแบ่งไว้ในพิพิธภัณฑ์ เป็นสัญลักษณ์ให้ทุกคนพึงระลึกว่าครั้งหนึ่งบนแผ่นดินฟิลิปปินส์เกิดการโกงครั้งใหญ่
    เงินภาษีที่ประชาชนจ่ายส่วนหนึ่งถูกเปลี่ยนมาเป็นกระเป๋าและรองเท้าราคาแพง ภายหลังรัฐนำเครื่องเพชรอลังการราคา 800 ล้านบาท ถูกศุลกากรฮาวายยึดมาตั้งแต่ปี 1986 มาเปิดประมูล นางอิเมลดาเคยคัดค้านเสียงแข็งเมื่อรู้ข่าวว่ารัฐจะนำเครื่องเพชรของตัวเองมาประมูล

   

     ปี 1991 อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ถึงแก่อสัญกรรมขณะลี้ภัยอยู่ฮาวาย ตายไปโดยไม่ทันได้รู้ว่าทางการฟิลิปปินส์กำลังจะยื่นเรื่องอายัดเงินโกงของเขา ส่วนอิเมลดาพอสามีตายก็ขอทำเรื่องกลับประเทศ เมื่อเห็นว่านักโกงเมืองขอกลับบ้าน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติตัดสินใจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนางอิเมลดาข้อหาคอร์รัปชัน
    ศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิดจริง และอาจถูกจำคุก 9-12 ปี นอกจากนี้ศาลยังระบุเพิ่มเติมว่า อดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ควรจะมีรายได้จากเงินเดือนและอื่น ๆ ราว 3 แสนดอลลาร์ (ประมาณ 10 ล้านบาท) ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้นำ ทว่าภรรยาของเขากลับมีเครื่องเพชรราคาเกือบแปดร้อยล้านบาท รวมกับทรัพย์สินราคาแพงอื่น ๆ ที่หากไม่โกงมาคงไม่มีวันซื้อได้
    แม้นางอิเมลดาจะโดนศาลตัดสินให้มีความผิดไปแล้ว แต่ปี 1998 ศาลสูงฟิลิปปินส์กลับคำตัดสินใหม่จนเธอรอดไปได้อีกครั้ง ว่างเว้นนาน 10 ปี เธอก็ถูกตั้งข้อหาเพื่อจับกุมอีกครั้งในปี 2008 และประกันตัวออกไปเหมือนครั้งก่อน ปล่อยให้เรื่องเงียบหายไปตามกาลเวลา

    ระหว่างวนเวียนกับการถูกฟ้อง อิเมลดามีทรัพย์สินมหาศาลที่ไม่มีใครรู้เหตุผลแน่ชัดว่าทำไมรัฐบาลถึงยึดเงินคืนมาได้แค่บางส่วน แถมอิเมลดายังกล้าลงสมัครประธานาธิบดีอีกด้วย การกระทำไม่สนใจโลกตั้งแต่สาวจนแก่ของเธอทำให้ประชาชนจำนวนมากพยายามร้องเรียนว่าผู้หญิงคนนี้ไม่มีคุณสมบัติเหมาะสม สุดท้ายเธอได้ลงเลือกตั้งและแพ้ แม้ไม่ได้เป็นผู้นำประเทศ แต่ในเวลาไม่กี่ปีเธอได้เป็นวุฒิสมาชิกหลายสมัย ส่วนลูกสาวและลูกชายก็มีบทบาททางการเมืองไม่น้อยกับผู้เป็นแม่

    มีหลักฐานยืนยันว่าประธานาธิบดีคนปัจจุบัน โรดริโก ดูแตร์เต (Rodrigo Duterte) สนิทสนมกับครอบครัวมาร์กอส การกระทำของเขาตอนปี 2016 ถือเป็นเครื่องยืนยันชัดเจน เมื่อเขาอนุญาตให้นำศพของอดีตผู้นำเฟอร์ดินานด์มาฝังไว้ในสุสานวีรชน ทั้งที่คนส่วนใหญ่มองว่าชายคนนี้เป็นทรราช ท่ามกลางความไม่พอใจของชาวฟิลิปปินส์ว่าเฟอร์ดินานด์ไม่คู่ควรรับเกียรตินี้

    กลางปี 2018 ศาลอาญาคดีทุจริตออกหมายจับ อิเมลดา มาร์กอส อีกครั้ง ปัจจุบันสตรีคนนี้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเขต 2 ของจังหวัดฮีลากังอีโลโคส ทางตอนเหนือของเกาะลูซอน ซึ่งเป็นบ้านเกิดของอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ ที่ตระกูลมาร์กอสมีฐานเสียงแน่นหนา
    ในครั้งนี้ศาลตัดสินว่าอดีตสุภาพสตรีหมายเลข 1 มีความผิดจริงในคดีคอร์รัปชันกว่า 7 ข้อหา เมื่อครั้งที่อิเมลดาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงมะนิลาได้ก่อตั้งมูลนิธิ 7 แห่ง ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์เป็นสถานที่ฟอกเงิน ใช้ธนาคารหลายเจ้าโอนเงินราวหกพันล้านบาทจากคลังแผ่นดินฟิลิปปินส์ ไปยังหน่วยงาน NGO พร้อมกับหลักฐานมัดตัวแน่นหนาอย่างของแบรนด์เนมมูลค่ามหาศาล

    การที่อิเมลดาตามติดสามีไปทุกปี เป็นผู้โอนเงินไปยังองค์กรบังหน้าเพื่อเปลี่ยนเงินโกงกินแผ่นดินเป็นเงินตัวเอง เธอไม่สามารถอ้างได้ว่าไม่เคยรู้เห็นเกี่ยวกับการโกงกระฉ่อนโลกของผู้เป็นสามี อิเมลดาคือผู้รู้เห็นทุกอย่าง เป็นผู้สนับสนุนให้เกิดการคอร์รัปชันและลงมือโกงชาติเองด้วยซ้ำ
    ปัจจุบันนางอิเมลดา มาร์กอส ยังคงใช้ชีวิตแสนสะดวกสบาย มีหน้ามีตาในสังคม โลดแล่นอยู่ในโลกการเมืองฟิลิปปินส์ และมีเงินเก็บมหาศาลราวแสนล้านบาท แม้จะน้อยกว่าตอนที่สามีดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีแต่เธอก็ไม่ได้มีชีวิตที่อัตคัด ยังไม่ถูกดำเนินคดีทางกฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งที่ครอบครัวมาร์กอสเคยสร้างบาดแผลสาหัสให้กับประเทศฟิลิปปินส์

.

  เรื่องราวของเธออาจไม่ถูกใจใครหลายคน บางคนมองว่าเธอควรได้รับผลจากการกระทำมากกว่านี้ ทว่าเรื่องราวตอนจบในโลกแห่งความจริงอาจจบไม่สะใจหรือสาสมเหมือนในภาพยนตร์เสมอไป

    น่าเศร้าเป็นอย่างยิ่งที่กรณีของอิเมลดา มาร์กอส ถือเป็นอีกหนึ่งกรณียืนยันชัดเจนถึงการผูกขาดทางการเมือง และอำนาจทางการเงินของโลกใบนี้

ที่มา : thepeople, ตรีนุช อิงคุทานนท์

บทความที่คุณอาจสนใจ