ข้อคิดจากคุณหมอ! แพทย์หนุ่มเปิดใจเล่าเคสรักษาคนไข้ระยะสุดท้าย ก่อนเขาจะหลับไปตลอดกาล...

คอมเมนต์:

ข้อคิดจากคุณหมอ "ถ้าคุณแม่รับรู้ว่าต้องเสียเงินมากมายเพื่อรักษาตัวของเขา ท่านคงเสียใจมาก..."

        ถือเป็นสัจธรรมชีวิตข้อหนึ่ง ที่ทุกคนล้วนหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งการเจ็บป่วยและการจากลาโลกนี้ เหมือนกับเคสล่าสุด ของครอบครัวหนึ่ง ที่ต้องรักษาแม่ ซึ่งป่วยโรคไตวายระยะสุดท้าย ก่อนพี่ชายคนโตของบ้านจะเอ่ยปากบอกคุณหมอเจ้าของไข้ว่า ขอทำเรื่องย้ายแม่ไปรักษาในโรงพยาบาลแถวบ้าน เหตุผลก็เผื่อประหยัดค่าใช้จ่ายลงมา เนื่องด้วยครอบครัวมีฐานะปานกลาง สู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว 

        โดยคุณหมอเจ้าของไข้ ได้ให้คำแนะนำบางอย่าง แม้จะทำใจยากสักนิด แต่เพื่อความสุขของลูกๆ และแม่ที่ป่วยหนัก ซึ่งตามอาการจริงต้องบอกว่า ที่แม่มีชีวิตอยู่ได้ในตอนนี้ เป็นเพราะเครื่องช่วยหายใจ และระบบการรักษาต่างๆ ทั้งที่ร่างกายอาจจะไม่ตอบสนองแล้ว สุดท้ายคุณหมอได้ใช้หลักการที่ว่า "ผมไม่ได้กำลังรักษาโรค แต่ผมกำลังรักษาคน"

 

Sponsored Ad

 

(ภาพประกอบบทความ)

        ทั้งนี้นายแพทย์คนดังกล่าว ได้เล่าเรื่องราวทั้งหมดผ่านทางเฟซบุ๊ก Kasiwat Sripradit ระบุว่า "All for the love of a mom  #BackToDrJeabMemory "หมอครับผมขอพาแม่ย้ายมารักษาที่โรงพยาบาลบ้านโพธิ์ได้มั้ยครับ".....เสียงจากโทรศัพท์ของชายผู้หนึ่งซึ่งเป็นญาติผู้ป่วยโทรมา ในตอนสายของวันอาทิตย์ปลายปี 2550

        ในขณะที่ผมอยู่เวรนอกเวลาราชการ กำลังราวด์ผู้ป่วยในอยู่พอดี  เขาขอนำคุณแม่ของเขามารักษาตัวต่อ ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นเป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังอายุ 60 ปีเศษ ผมจึงแจ้งว่ายินดีรับไว้ เหมือนกับผู้ป่วยโรคเรื้อรังรายอื่น ๆ  ประมาณสี่โมงเย็น พยาบาลได้ตามผมมารับดูแลผู้ป่วย ผมได้พูดคุยกับญาติ ที่มีประมาณ 5-6 คน ที่มาพร้อมกับผู้ป่วยในขณะที่ผู้ป่วยดูเหมือนนอนหลับ ค่อนข้างบวม มีสายระโยงระยางต่อกับขวดน้ำเกลือใหญ่น้อย 4-5 ขวด

 

Sponsored Ad

 

(ภาพประกอบบทความ)

        บุตรชายที่ติดต่อมา ได้แนะนำตัว และส่งหนังสือส่งตัวของโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งมาให้ ผมสังเกตว่าเขาเป็นกังวล และดูเป็นทุกข์มาก เช่นเดียวกับญาติคนอื่น ๆ ผมก็ได้อ่านหนังสือส่งตัวที่พิมพ์จากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ มีสำเนารายงานการรักษาอย่างละเอียด ผมก็พลิกดูเฉพาะที่สำคัญ เพราะว่าถ้าอ่านทั้งหมดคนใช้เวลาเป็นชั่วโมง หลังจากนั้นผมก็ตรวจร่างกายผู้ป่วย...

        พอตรวจเสร็จ ผมเชิญญาติทุกคนเข้ามาหา ผมเริ่มจากถามบุตรชายคนนั้นซึ่งตอนนี้ทราบว่าเป็นบุตรชายคนโต ของพี่น้อง 4 คน ว่า

 

Sponsored Ad

 

(ภาพประกอบบทความ)

        "ขอโทษนะครับ ไม่ทราบว่าต้องการให้ผมดูแลคุณแม่อย่างไร"ผมถามหยั่งเชิงความต้องการของญาติ

        เขาก็คงแปลกใจ เพราะคำถามนี้ควรจะเป็นเขาถามผมมากกว่า พอหันไปหาญาติคนอื่น ทุกคนไม่พูดอะไร

 

Sponsored Ad

 

         "....ก็แล้วแต่คุณหมอก็แล้วกันครับ"เขาตอบกลับมา

         ผมถามต่อไปว่า"ทราบใช่มั้ยครับว่า คุณแม่เป็นไตวายระยะสุดท้าย"...ทุกคนพยักหน้า

         "ถ้าจะประคับประคองก็คงจะต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม" ผมเสนอทางเลือก

        "ฟอกมาได้เกือบสองเดือนแล้วครับ แต่ว่าตอนนี้ครอบครัวคงสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว เลยขอย้ายออกมา พอดีแม่เคยมาตรวจกับคุณหมอเมื่อหลายปีก่อน เลยคิดว่าอาจจะพอช่วยพวกเราได้"เขาตอบกลับมา

        "อ้อเหรอครับ แต่โรงพยาบาลผมไม่มีบริการฟอกเลือดนะครับ"ผมบอกข้อมูลสำคัญ...(โรงพยาบาลบ้านโพธิ์เพิ่งมีบริการจ้างเหมาฟอกเลือดในปี พ.ศ.2558)

 

Sponsored Ad

 

        พวกเขาก็ดูเหมือนผิดหวังเล็กน้อย ผมก็เลยถามต่อว่า "แล้วตอนที่ไปโรงพยาบาลโน้น คุณแม่มีอาการเป็นยังไง"

(ภาพประกอบบทความ)

        "ก็นอนหลับไม่รู้สึกตัวแบบนี้ละครับ ปัสสาวะแทบไม่ออกเลย หมอที่นั่นเขาบอกว่าต้องฟอกเลือด"

        แล้วเขาก็เล่าต่อว่า"ฟอกครั้งนึงก็ 4 พัน วันละ 2 ครั้ง เพราะมีของเสียคั่งมาก....แล้วเขาก็เอาแม่นอนในห้องไอซียู ให้ญาติเข้าเยี่ยมวันละครั้ง ไม่เกินชั่วโมงต้องออกเพราะพยาบาลกลัวว่าจะติดเชื้อ"....(ค่าห้องไอซียูและค่าฟอกเลือดในช่วงเวลานั้นในโรงพยาบาลเอกชนแพงมาก และโรงพยาบาลรัฐบาลส่วนใหญ่ก็เข้าถึงยากมาก โรงพยาบาลชุมชนไม่ต้องพูดถึงไม่มีบริการ)

 

Sponsored Ad

 

        "แล้วเอาเงินจากไหนมาครับ"ผมถามเรื่องภาระค่าใช้จ่าย?

        "พี่น้องก็เอาเงินลงขันกัน แต่ก็ไม่พอเลยตัดสินใจขายที่ดินกองกลาง มาเป็นค่ารักษา รวม ๆ แล้วก็แปดแสนกว่าบาท มันจะเยอะเกินกว่านี้ เลยขอหมอเขากลับบ้าน"

        ผมคิดในใจว่าเป็นเงินแปดแสนบาทค่อนข้างมากสำหรับครอบครัวฐานะปานกลางครอบครัวนี้

(ภาพประกอบบทความ)

Sponsored Ad

        ผมเลยได้อธิบายว่า "ความจริงคุณแม่เป็นไตวายระยะสุดท้าย คงมีของเสียที่คั่งไปกดสมองมานานแล้ว การฟอกเลือดคงแค่ยืดระยะเวลาของผู้ป่วยออกไปเท่านั้น ที่ผ่านมาคุณแม่เหมือนเป็นตุ๊กตาตัวหนึ่งที่ไม่รับรู้ และถ้าคุณแม่รับรู้ว่าต้องเสียเงินมากมายเพื่อรักษาตัวของเขา ท่านคงเสียใจมาก"...ฟังถึงตอนนี้ญาติหลายคนมีสีหน้ากังวล ผมเลยพูดต่อว่า "ลูก ๆ ก็ไม่ผิดอะไรหรอกครับ เพราะแม่ใคร ใครก็รักและอยากรักษาอย่างเต็มที่ เคสนี้ไม่ใช่รายแรกและรายสุดท้ายที่จะเจอเหตุการณ์แบบนี้".....พอพูดถึงตอนนี้ทุกคนนิ่งเงียบ

        พี่ชายคนโตเดินมาไหว้ผมแล้วบอกว่า "ผมน่าจะเจอหมอก่อน จะได้เข้าใจว่าแม่ไม่ไหวแล้ว จริง ๆ ถ้าใช้เงินแปดแสนแล้วแม่ผมหายก็คงคุ้ม....หมอครับ แล้วแม่ผมจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน" ?

        ผมบอกว่า "ถ้ายังไม่พร้อมพาแม่กลับบ้านตอนนี้ ผมขอเอาสายน้ำเกลือที่มีอยู่ออก งดยาทุกตัว ให้ญาติทุกคนอยู่กับคุณแม่ให้นานที่สุด แสดงความรักให้เต็มที่ ผมไม่แน่ใจว่ามีเวลาอีกเท่าไหร่ แต่น่าจะภายในคืนนี้"

(ภาพประกอบบทความ)

        พวกเขาลงความเห็นว่าไม่ต้องการเคลื่อนย้ายอีกแล้ว ขออยู่ที่นี่ ผมก็พยักหน้า แล้วผมก็ขอตัวจากมา.... ความรู้สึกตอนนั้นบอกไม่ถูก ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าทำอย่างนี้ถูกต้องหรือไม่ แต่รู้อย่างหนึ่งว่า ถ้าผมเป็นชายคนนั้น ผมก็คงต้องการรับรู้ข้อมูลอย่างนี้เหมือนกัน ผมคิดว่าคุณแม่เป็นผู้ป่วยก็จริง แต่คนที่ป่วยมากกว่าก็คือลูกทุกคน โดยที่การรักษาไม่ใช่ยาแต่เป็นเพียงข้อมูล ความรู้และความเข้าใจต่างหาก คุณแม่ของพวกเขาเสียชีวิตในอีกสองชั่วโมงถัดมา ผมสัมผัสได้ว่าลูกๆ ทุกคนรู้สึกยินดีในความสูญเสีย เหมือนหายจากความทุกข์ เพราะรับทราบว่าคุณแม่ที่เป็นที่รักได้พ้นจากวัฏสงสารอย่างสงบ ญาติทุกคนเข้ามากอดผมทั้งๆ ที่เพิ่งรู้จักกันแค่ 2 ชั่วโมงกว่า ๆ ผมเขียนหนังสือรับรองการตาย ให้รถโรงพยาบาลไปส่งศพที่วัด ไปทอดผ้าบังสกุลในวันเผา

        นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ทำหน้าที่ของแพทย์ในลักษณะที่ไม่เคยทำมาก่อน ไม่มีคำสั่งให้ยารักษา ไม่ให้สารน้ำ และอาหาร แต่ผมได้ทำให้ 2 ชั่วโมงนั้นมีค่าสำหรับครอบครัวนี้.....ใช่แล้ว ผมไม่ได้กำลังรักษาโรค แต่ผมกำลังรักษาคน อย่างที่อาจารย์แพทย์ท่านได้สอนไว้เสมอ..."

        นับว่าเรื่องราวดังกล่าว ได้สร้างความซาบซึ้ง และประทับใจให้กับผู้ที่เข้ามาอ่านอย่างมาก ทั้งนี้ชาวโซเชียลยังชื่นชมด้วยว่า เป็นคุณหมอที่ดี ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ทั้งลูกๆ และผู้ป่วยได้มีความสุขทั้งสองฝ่าย ลูกๆ ไม่ต้องทุ่มเงินรักษา ทั้งที่อาการป่วยของแม่อาจจะไม่ดีขึ้นเลย และแม่ก็จะได้พักจากความทรมาน ถึงแม้ว่าการเสียชีวิต จากลา จะเป็นเรื่องที่ยากจะทำใจ แต่ในความรู้สึกของลูกๆ ก็ไม่อยากเห็นพ่อแม่ต้องทรมานกับความเจ็บป่วยที่ไม่มีทางแก้ไขอีกแล้ว อีกทั้งยังทำให้หลายๆ คน นึกถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตด้วยว่า ในวันที่ต้องตัดสินใจยามพ่อแม่เจ็บป่วย มันรู้สึกยังไงบ้าง 

.


ข้อมูลและภาพจาก kasiwat sripradit

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ