เปิด 10 โอวาทธรรมตรงๆ ง่ายๆ ของ "หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ" ที่จะคงอยู่ในใจผู้ศรัทธาตลอดไป

คอมเมนต์:

"​ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมด มันยิ่งได้..."

        รวบรวม 10 โอวาทธรรม หรือคำสอนของ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งวัดบ้านไร่ จ.นครราชสีมา เนื้อหาบางส่วนจากหนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) (เล่มใหญ่) จัดทำโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้เผยแพร่โอวาทธรรมคำสอนของหลวงพ่อคูณที่จะคงอยู่ในใจตลอดไป 

        “หลวงพ่อเทศนาเป็นคำพูดตรงๆ แทรกธรรมง่ายๆ ที่ประชาชนทั่วไปฟังแล้วเข้าใจได้ ในที่นี้ไม่สามารถสาธยายได้หมด จึงขอยกตัวอย่างมาเพียงบางส่วนเท่านั้น”

 

Sponsored Ad

 

        ก่อนสอนคนอื่นต้องสอนตัวเองก่อน

        “มันต้องสอนตัวเองก่อน จะแนะนำอะไรเขา ตัวเองทำให้เขาดูตัวอย่างก่อน เช่น สอนให้เขาบริจาคทาน ตัวเองต้องบริจาคเสียก่อนด้วยจึงจะถูก ใครมันจะไปเชื่อ เชื่อไม่ได้ ต้องทำให้เขาดูก่อน สอนตัวเองก่อน ถึงค่อยไปสอนคนอื่น จะทำอะไรทุกอย่างมันต้องทำให้เขาดูก่อน เขาจึงจะเชื่อ… อย่างพระสงฆ์ อย่าดีแต่ไปสอนคนอื่น สอนตัวเองบ้างเถอะน่า สอนคนอื่นอย่างน้ำไหลไฟดับ แต่ตัวเองไม่สอน บอกให้เขาบริจาคเท่านั้นเท่านี้ แต่ตัวเองไม่ทำให้เขาดูก่อน หรือจะเป็นครูอะไรก็ตาม..เป็นครูนาฏศิลป์ก็ต้องรำเป็น หรือเป็นครูอะไรๆ ก็ต้องทำเป็นก่อนทั้งนั้น พระพุทธองค์ก็เหมือนกัน สอนตัวเองได้แล้วท่านเอาชนะตัวเองได้แล้ว จึงได้เสด็จออกไปเทศนาโปรดปัญจวัคคีย์และเวไนยสัตว์”

 

Sponsored Ad

 

        ความประมาทเป็นบ่อเกิดแห่งความตาย

        หลวงพ่อมักจะให้ข้อคิดกับคนที่เอารถมาให้ท่านเจิมว่า “การขับรถอย่างระมัดระวังไม่ประมาท สำคัญกว่าการเจิม อย่างโบราณท่านว่า วิ่งไม่ดูตาม้าตาเรือก็ชนกันตาย การขับรถจะต้องดูทาง ถ้ามันคดโค้งจะต้องระมัดระวัง” “ถ้าประมาทเมื่อใดก็ตายเมื่อนั้น เพราะฉะนั้นทำอะไรทุกอย่าง ทำให้ดี อย่าได้ประมาท อย่าผัดผ่อน ถ้าประมาทแล้วนึกได้ทีหลังจะเสียใจ”

 

Sponsored Ad

 

        ละทำชั่ว ทำดี มีศีลธรรมประจำใจ

        ละทำชั่ว ทำดี มีศีลธรรมประจำใจ ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ท่านมักกล่าวอยู่เสมอว่า “อยากให้บ้านเราเจริญนะ ไม่ยากหรอก ตั้งอยู่ในองค์ปัญจะทั้ง 5 คือ รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ไม่ให้ขาด อย่าให้ด่างพร้อย เป็นมนุษย์สุดประเสริฐ หรือใครก็ตาม แม้แต่พระ เราก็ต้องรักษาศีล 5 ถ้าไม่มีศีล 5 ประจำใจ ไม่ว่าพระรูปใดรูปหนึ่งก็เป็นพระไม่ได้เหมือนกัน”

        “กูให้มึงรู่จั๊กพอ”

 

Sponsored Ad

 

        ในวัตรปฏิบัติของหลวงพ่อคูณหลายประการที่เป็นการสอนธรรมโดยอ้อม เช่น การรับเงินจากญาติโยมที่มาบริจาคให้ท่านนำไปสร้างสาธารณกุศล ท่านจะหยิบเพียงใบเดียวและเป็นใบที่มีค่าน้อยที่สุด หลวงพ่อบอกว่าที่ทำเช่นนี้เพราะ…

        “กูให้มึงรู่จั๊กพอเพราะผู้คนหาเงินมาด้วยความยากลำบาก ยิปทั่งหม๊ดจะเป็นการเอาเปรียบหยาดเหงื่อแรงงานของญาติโยม เราต้องมีเมตตาแก่เพื่อนมนุษย์ เกิด แก่ เจ๊บ ตาย เขาให่เท่าไหร่ก็เอาเท่านั้น มันเป็นไปไม่ได้ อย่าเอามากหลาย หลานเอ๊ย โลภของคนเรา ร่อยล้าน พันล่าน ก็ไม่พอให่รู้จักว่าพอกันซักทีซิ พูดว่า “พอ” กันซักที การรับบริจาคเพียงส่วนหนึ่งของกูนี่ เป็นการเตือนสติและสอนพุทธศาสนิกชนทั่งหลายว่าให่รู่จักพอ อย่าโลภมากหรือให่ลดความโลภ ความอยากได้ของคนอื่น อย่าเบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน”

 

Sponsored Ad

 

        “เราต้องให่เขาก่อน แล่วเขาก็จะให่เราทีหลัง”

        ด้วยบารมีของหลวงพ่อคูณ เมื่อตั้งใจจะสร้างอะไร สิ่งนั้นย่อมสำเร็จ คือจะมีผู้บริจาคสมทบอย่างมากมาย เคยมีผู้สอบถามเรื่องนี้ หลวงพ่อหัวเราะพร้อมบอกว่า … “เราต้องให่เขาก่อน แล่วเขาก็จะให่เราทีหลัง และเมื่อเราได้รับการบริจาคมาแล้ว เราควรที่จะทำตัวให่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ไม่ใช่หวังเก๊บหวังรวยแต่อย่างเดียว มันไม่ใช่วิสัยของเพศสมณะ เมื่อเขาเห็นเรานำไปทำประโยชน์ เขาก็ยิ่งแต่จะมาช่วยเรา ถ้าเราไม่นำไปทำบุญให่เขาต่อ เขาจะได้บุญอะไร”

 

Sponsored Ad

 

        การด่าลูกเป็นอัปมงคล พูดกับลูกๆ แต่สิ่งดีๆ มันจะได้เป็นมงคล

        หลวงพ่อคูณให้พรเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ พ.ศ. 2540

        “กูเองก็ขอให้เด็กไทยทุกคนจงประพฤติตัวให้เหมาะสมกับที่เราเป็นชาติไทย พวกลูกๆ หลานๆ ก็ขอให้ตั้งใจเล่าเรียนศึกษาหาความรู้ใส่ตัวเองเอาไว้ เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะมีวิชาหากินกับเขา อย่าได้เป็นเด็กเกเร ให้รู้จักรักพ่อแม่ เขาสั่งสอนบอกอะไรก็ให้เชื่อฟัง…”

Sponsored Ad

        “ทางพวกพ่อแม่ก็สั่งสอนให้ลูกๆ ถ้าจะเอ่ยคำสอนไหน ก็อย่าไปพูดว่า ลูกคนนี้ดื้อ ลูกคนนี้มึน ลูกคนนี้ซน ลูกคนนี้บอกยากสอนยาก เพราะมึงไปว่ามันมาแต่เล็กๆ มันเป็นอัปมงคล และจะส่งเสริมให้ลูกของมึงดื้อจริงๆ พวกมึงต้องพูดคำว่า เป็นคนดี บอกง่าย สอนง่าย ไม่เคยเกเร ให้พูดกับลูกๆ แต่สิ่งดีๆ มันจะได้เป็นมงคลและมันก็จะได้จดจำเอาไว้ มึงทำตามกูบอกเด้อลูกหลายเอ๊ย”

        อย่าไปงมงายเอาเงินไปซื้อเลขหวย

        “พวกมึงมาขอโชคพร กูก็ให้พรและเคาะหัว แต่เรื่องเลขเด็ดไม่มีให้ใครด๊อก อย่าไปงมงายเอาเงินไปซื้อเลขหวยกันเลย เก็บเงินไว้ซื้อกับข้าวดีกว่า”  (เดลินิวส์ 25 กันยายน 2541 ) กรณีข่าวเลขเด็ดอายุของหลวงพ่อคูณที่สร้างความสนใจให้กับนักเสี่ยงโชคทั่วประเทศ ทำให้ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์หลวงพ่อตลอดวัน แต่หลวงพ่อไม่ว่าง เพราะรับแขกไม่ขาดสายจนไม่ได้พักผ่อน หลวงพ่อคูณได้พูดเตือนสติไปถึงนักเสี่ยงโชคสั้นๆ ว่า “กูไม่อยากพูดอะไรทั้งนั้น ไม่อยากให้ลูกหลานมันงมงายเกินเหตุ ใครจะโชคดีแล้วแต่โชควาสนา”  (เดลินิวส์ 31 สิงหาคม 2542)

        พ่อแม่ที่อยู่บนบ้านต้องทำบุญทุกวัน คือต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณ อย่ามัวแต่รอไปทำบุญ 100 วัน ซึ่งจะได้บุญน้อยกว่า

        หลวงพ่อคูณแนะนำสั่งสอนให้รู้จักบุญคุณ และตอบแทนบุญคุณต่อผู้มีพระคุณ พ่อแม่ ครูอาจารย์ แผ่นดินหรือประเทศชาติอันเป็นที่กำเนิด เป็นที่อยู่อาศัย และพระเจ้าแผ่นดินที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของคนทั้งชาติ หลวงพ่อบอกว่า ผู้เป็นลูกต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณพ่อแม่

        ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมด มันยิ่งได้

        หลวงพ่อคูณ เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของการบริจาคทาน หรือการเสียสละเพื่อให้พุทธศาสนิกชนปฏิบัติตาม ท่านได้ดำเนินชีวิตบำเพ็ญทานบารมีอย่างจริงจังมาโดยตลอดตามแนวของพระมหาเวสสันดร

        อย่าลอดคันนาก็แล้วกัน

        ญาติโยมถามหลวงพ่อคูณว่า เมื่อให้วัตถุมงคลหรือฝังตะกรุดผู้ใดแล้ว หลวงพ่อได้ตั้งกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติหรือต้อง “กรำ” ของอย่างไร ซึ่งก็หมายถึงข้อห้ามที่จะทำมิได้ ในขณะที่มีวัตถุมงคลอยู่ในครอบครอง เพราะเชื่อว่า ของขลังเหล่านั้นจะเสื่อมและไม่มีความศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป ท่านตอบแบบติดตลกว่า “กูไม่ได้ตั้งกฎอะไรด๊อก ลอดอะไรก็ได้ แต่อย่าลอดหัวคันนาก็แล้วกัน”

        ที่หลวงพ่อพูดเช่นนี้ มีความหมายว่า ผู้ที่มีวัตถุมงคลนั้นจะลอดอะไรก็ได้ วัตถุมงคลนั้นไม่เสื่อม ยังทรงพุทธานุภาพและเป็นสิริมงคลเสมอตราบเท่าที่ผู้นั้นประพฤติตนเป็นคนดี มีศีลธรรม ไม่ประพฤติชั่วออกนอกลู่นอกทาง เหมือนการลอดคันนาที่ไม่มีผู้ใดกระทำ เพราะคันนามีไว้สำหรับเดิน ไม่ใช่ลอด ผู้ที่มีวัตถุมงคลและปฏิบัติตามจึงเกิดสิริมงคลกับชีวิตตลอดไป


ขอขอบคุณข้อมูล :หนังสืออาจาริยานุสรณ์ พระเทพวิทยาคม (หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ) (เล่มใหญ่ ) จัดทำโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น

บทความแนะนำ More +

บทความที่คุณอาจสนใจ